แพทย์เตือน "แป้งฝุ่น" ภัยเงียบ "ภูมิแพ้-เนื้องอก-มะเร็ง"!!?
เผยแพร่:
โบกเข้าไป ให้มันหนาๆ หน้า - ตัวขาวๆ อันตรายซ่อนอยู่ แพทย์เตือน ระบบทางเดินหายใจอักเสบ - อาจเกิดภูมิแพ้ได้
แพทย์ชี้ ไม่แนะนำ “ให้ทาแป้ง”
หลายๆ คนคงเคยเห็นคลิปที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งแชร์คลิปเล่นมุกเขย่าแป้งในมือ จนเลอะหน้าเด็ก ขาววอกไปทั้งหน้า จึงเป็นประเด็นที่ทำให้สังคม ต่อว่าการกระทำที่ไม่เหมาะสมนี้ เพราะอาจทำให้เด็กเป็นโรคภูมิแพ้ได้
ทางทีมข่าว ผู้จัดการ Live จึงได้ต่อสายตรงไปยัง รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อให้ช่วยชี้แจงเรื่องการใช้แป้งในเด็ก และการเกิดภูมิแพ้
“ใช้แป้งกับเด็กบ่อยๆ มีโอกาสทำให้เด็กเป็นภูมิแพ้ได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เช่น เด็กที่แพ้ผงแป้งก็จะกระตุ้นให้มีอาการได้มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นทุกคน ถ้าคนที่ไม่มีโอกาสจะเป็นมันก็ไม่เป็น มีโอกาสเป็นสำหรับเด็กที่มีโอกาสจะเป็นอยู่แล้ว
เพราะว่าภูมิแพ้ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ บางครั้งได้รับสารก่อภูมิแพ้เดียวกันไป บางคนไม่เป็น เพราะไม่มีโอกาสจะเป็น แต่บางคนเป็น เพราะได้ยีนที่มีโอกาสจะเกิดภูมิแพ้ พอได้สูดดมเข้าไปก็เลยเกิดเป็นภูมิแพ้”
ปัจจุบันไม่มีการแนะนำให้ใช้แป้งทาตัวเด็กแล้ว เนื่องจากแป้งทาตัวเด็กที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป ผลิตจากแร่หินชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ทัลค์ (Talc) หรือเรียกว่า แป้งทัลคัม (Talcum Powder) การฟุ้งกระจายของผงแป้ง เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
เมื่อสูดดมทัลคัมเข้าไปในปริมาณมาก มีผลต่อร่างกาย เช่น ปอด เพราะอาจทำให้เกิดอาการไอ หายใจติดขัด ระบบทางเดินหายใจอักเสบ หรือติดขัดอย่างรุนแรง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของภูมิแพ้ ปอดอักเสบ เกิดเป็นโรคเนื้องอกในปอด (Talcosis) และเสียชีวิตได้ เนื่องจากแป้งทัลคัมไม่สามารถย่อยสลายได้
“ไม่แนะนำให้ใช้แป้งฝุ่น เพราะว่าเวลาสูดดมเข้าไปในปอด มันมีผงแป้งที่ทำจากทัลคัมเข้าไปอยู่ในปอด ไม่ใช่แค่เป็นภูมิแพ้ เวลาเราหายใจเข้าไปมันจะมีผงแป้งไปตกตะกอนอยู่ในปอด อาจเป็นสารก่อมะเร็ง แอสเบสตอส (Asbestos) ไม่ใช่เฉพาะในเด็ก ผู้ใหญ่ที่ใช้แป้งฝุ่นก็มีโอกาสเป็น เพราะเวลาใช้แป้งฝุ่นมันฟุ้งกระจาย ทำให้เรามีโอกาสสูดดมเข้าไป”
ติดแป้ง ทาได้ ควรใช้แต่พอดี
อย่างไรก็ตาม การใช้แป้งทาตัวเด็กควรใช้ในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป เวลาที่จะทาแป้งนั้น ควรเทแป้งลงบนฝ่ามือก่อน อย่าไปเทใกล้หน้าเด็กหรือเทแรงจนฝุ่นแป้งคลุ้ง หรืออาจเลือกใช้แป้งอัดแข็งสำหรับเด็กทารก มีราคาสูงกว่าแป้งเด็กทั่วไปอยู่บ้าง แต่จะไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นฟุ้งกระจาย
ส่วนเรื่องการทาตามร่างกาย แพทย์ท่านเดิมยังกล่าวอีกด้วยว่า ควรทาแป้งแค่บางส่วนของร่างกายก็พอ ไม่ควรทาตรงอวัยวะเพศ และควรทาบางๆ ไม่ควรตบแป้งให้มีฝุ่นฟุ้งกระจาย
“การทาแป้ง ควรทาแค่บางอวัยวะเพราะตามข้อพับที่คนชอบทาเพื่อลดความอับชื้นนั้น บางทีตัวแป้งนั้นจะดูดความชื้นเข้าไป ซึ่งจะแห้งตอนแรกๆ เพราะแป้งดูดน้ำไว้นิดเดียว พอแป้งดูดเกินส่วนของมันแล้ว ก็ดูดความชื้นเอาไว้ด้วย ทำให้มันชื้นมากกว่าเดิม อย่างเช่น เด็กอ้วนพ่อแม่ชอบทาแป้งให้เยอะๆ เพื่อลดความอับชื้น นั่นเป็นวิธีที่ผิด
ตอนนี้ไม่แนะนำให้ใช้แล้ว ถ้าบางคนยังอยากใช้อยู่ก็ต้องใช้อย่างเหมาะสม วิธีที่ใช้อย่างเหมาะสมคือ เวลาที่โรยแป้งอย่าให้มันฟุ้งกระจาย เพื่อไม่ให้เข้าไปในปอด ทาให้บางที่สุด ไม่แนะนำให้พอกโปะๆ โบกๆ เข้าไป
ขณะเดียวกัน นพ.พลพงศ์ ชยางศุ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน โสต ศอ นาสิก รพ.เลิดสิน ได้กล่าวถึงกรณีการใช้แป้งไว้อีกด้วยว่า องค์ประกอบของแป้งไม่ได้เป็นสารก่อภูมิแพ้โดยตรง แต่เกิดจากสารทัลค์ หรือทัลคัม ที่เราสูดดมเข้าไป แล้วไปอุดอยู่ทางเดินหายใจ ซึ่งกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ
“ในทางการแพทย์จริงๆ แล้วไม่ต้องทาแป้งเลยก็ได้ หมอก็ไม่แนะนำ ควรจะเลี่ยง แต่ถ้าใครอยากทาก็สามารถทาได้ ทาเยอะก็มีโอกาสเกิดการอักเสบของผิวหนังได้ ดังนั้นแนะนำให้ทาบางๆ แต่ก็มีโอกาสเป็นภูมิแพ้ หรือเกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจได้อยู่ดี ยังไงมันก็ดูดความชื้นเพราะเข้าไปติดกับผิวหนังของเรา
เมื่อเด็กเกิดความอับชื้น ไม่ต้องทาแป้ง แต่แก้ด้วยวิธีนี้ คือ อาบน้ำให้บ่อยขึ้น อาบน้ำให้สะอาด เช็ดตัวให้แห้ง ใส่เสื้อผ้าที่โปร่ง เบา สบาย อากาศถ่ายเทได้ เวลาที่มีเหงื่อก็ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ด เพื่อลดความอับชื้น”
ส่วนความกังวลใจว่าในบริเวณข้อพับต่างๆ จะอับชื้น หากไม่ได้ทาแป้งนั้น แนะนำให้ใช้ปิโตรเลียมเจลลี ทาลงไปที่บริเวณข้อพับแทนการทาแป้ง ปิโตรเลียมเจลลีจะเคลือบผิวทำให้ผิวบริเวณที่ทาลื่น ความชื้นเกาะไม่อยู่
ทั้งนี้อันตรายจากการทางแป้งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ที่ใช้แป้งฝุ่นหรือแป้งพัฟ ก็มีโอกาสเกิดเป็นโรคเหล่านี้ได้ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้แป้ง หรือใช้แป้งที่ไม่มีส่วนผสมของทัลคัมนั่นเอง