กาฬโรค เป็นหนึ่งในโรคภัยไข้เจ็บที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่ในปัจจุบันโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถรักษาให้หายได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ
กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองคืออะไร
กาฬโรค เป็นโรคติดเชื้อที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต เกิดจากแบคทีเรียที่ชื่อ "เยอร์ซีเนีย เพสติส" (Yersinia Pestis) ที่อาศัยอยู่ในสัตว์บางชนิด ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก เช่น หนู และกระรอก รวมถึงหมัดที่อยู่บนตัวมัน
กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง เป็นกาฬโรคชนิดที่พบบ่อยในมนุษย์ ชื่อของมันมาจากอาการที่เกิดจากโรค นั่นคือ อาการอักเสบและปวดบวมที่ต่อมน้ำเหลือง หรือบริเวณขาหนีบ และรักแร้
ระหว่างปี 2010 - 2015 มีผู้ป่วยกาฬโรค 3,248 รายทั่วโลก ในจำนวนนี้ 584 รายเสียชีวิต
ในประวัติศาสตร์ การระบาดใหญ่ของโรคนี้ถูกเรียกว่า "กาฬมรณะ หรือ ความตายสีดำ" (Black Death) ซึ่งหมายถึงภาวะเนื้อเยื่อตายและเน่าเปื่อยตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า ซึ่งเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคนี้
ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
คนทั่วไปมักเริ่มแสดงอาการป่วยหลังจากติดเชื้อกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองไปราว 2-6 วัน
อาการเริ่มต้นอาจมีไข้และหนาวสั่น รวมถึง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองบวม เจ็บ หรือมีความรู้สึกไว อย่างน้อย 1 จุด เช่น ที่ขาหนีบ รักแร้ หรือคอ โดยจะมีขนาดประมาณไข่ไก่
นอกจากนี้ กาฬโรค ยังอาจส่งผลต่อปอด ทำให้ไอ เจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดก็จะทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย อวัยวะล้มเหลว และเสียชีวิตได้ในที่สุด
กาฬโรคติดอย่างไร
มนุษย์สามารถติดกาฬโรคได้ดังต่อไปนี้
- ถูกตัวหมัดที่มีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคกัด
- สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น หนู
- สูดหายใจเอาละอองฝอยจากการไอจามของคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเข้าไป
สัตว์เลี้ยง เช่น แมว และสุนัข สามารถติดเชื้อกาฬโรคได้จากการถูกหมัดกัดหรือการกินสัตว์ฟันแทะที่ติดเชื้อ
เชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลเปิดที่ผิวหนัง หากบุคคลนั้นสัมผัสกับเลือดสัตว์ที่ติดเชื้อ
ในประกาศเตือนภัยครั้งล่าสุดของจีนได้สั่งห้ามการล่าและกินเนื้อสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรค โดยเมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว พบว่ามีผู้ป่วย 2 คนเสียชีวิตด้วยกาฬโรคที่มองโกเลีย จากการติดเชื้อภายหลังรับประทานเนื้อกระรอกดินดิบ
ศพของผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัสใกล้ชิด เช่น ผู้ที่รับหน้าที่เตรียมศพสำหรับการฝัง เป็นต้น
รักษาอย่างไร
การรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยยาปฏิชีวนะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้มักทำให้อาการรุนแรงถึงชีวิต
การวินิจฉัยโรค โดยใช้การทดสอบในห้องปฏิบัติการ และการตรวจตัวอย่างเลือดรวมทั้งส่วนอื่น ๆ สามารถช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้
มีโอกาสจะเกิดการระบาดใหญ่ของกาฬโรคขึ้นมาอีกหรือไม่
แม้จะเป็นโรคร้ายที่เราเคยได้ยินมาว่าทำให้มีผู้คนล้มตายไปหลายล้านคนในช่วงศตวรรษที่ 14 เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 19 แต่ปัจจุบันกาฬโรคยังคงมีอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้พบการระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และมาดากัสการ์ แต่ไม่ใช่การระบาดใหญ่
นพ.แมตธิว ดรายเดน นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตันในอังกฤษ กล่าวถึงข่าวการพบผู้ติดเชื้อกาฬโรคในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ว่า "เป็นเรื่องดีที่มีการตรวจพบและรายงานแต่เนิ่น ๆ เพราะจะช่วยให้สามารถกักโรค รักษา และป้องกันการแพร่ระบาดได้"
"กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่เหมือนโรคโควิด-19 ดังนั้นจึงสามารถให้การรักษาได้ง่ายในทันทีด้วยยาปฏิชีวนะ" เขากล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น